วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ธรรมะจาก พระไพศาล บทเรียนจาก น้ำท่วม

ธรรมะจาก "พระไพศาล" บทเรียนจาก "น้ำท่วม" ข้อดี-ความกลัว และนิทาน "คนหูหนวก"



ช่วงน้ำท่วม  สังคมไทยอยู่ในภาวะเครียดอย่างหนัก 
ทั้งหวาดกลัว  ทั้งโกรธแค้น 
 
และสุดท้ายก็ระบายออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
 
ปัญหาทางกายภาพที่เกิดขึ้น  ไม่เท่ากับปัญหาทางใจของคนที่เผชิญกับวิกฤติการณ์ครั้งนี้
 
ในเฟซบุ้คของ "พระไพศาล  วิสาโล" ช่วงน้ำท่วม  มีคำสอนหลายเรื่องที่น่าจะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
เรื่องแรก  "การจัดการความกลัวด้วยธรรมะ" 
มีผู้หญิงคนหนึ่งตั้งปุจฉา เรื่อง "ความกลัว"    
เธออยู่กับบ้านพร้อมกับพ่อ พี่ชาย และหลานสาว เพราะคุณพ่อไม่ยอมอพยพ  และเธอมีสุนัข 7 ตัวที่ต้องดูแล
บ้านของเธออยู่บนพื้นที่สูง  ทำให้น้ำท่วมภายนอกรอบบ้านเท่านั้น  แต่คนในซอยอพยพออกไปหมด ตอนนี้เธอพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับบ้าน  ซื้อเรือมาพายไปไหนมาไหน  และออกไปช่วยคนอื่นท่ลำบาก
 
คำถามของเธอก็คือ "แต่บางครั้งหนูก็รู้สึกกลัวว่าน้ำจะขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อพอจะแนะนำได้อย่างไรบ้างเจ้าคะที่เราจะขจัดความกลัวที่เกิดขึ้นเจ้าค่ะ"

"พระไพศาล" เริ่มต้นด้วยการขออนุโมทนาที่แม้ลำบากก็ยังมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น
          
"ความกลัวนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้น แต่ขอให้สังเกตว่าเรากลัวเมื่อใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ปรุงแต่งถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาพดังกล่าวจะทำให้เกิดความกลัวและกังวล มันยังไม่เกิด แต่ก็กลัวเสียแล้ว เมื่อรู้เช่นนี้ก็ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน" 
ท่านสอนว่า "ความกลัว" กับเรื่องในอนาคตก็มีประโยชน์หากมาใช้ในการวางแผนเพื่อรับมือกับที่จะเกิดขึ้น 
   
"มองในแง่นี้ความกลัวก็มีประโยชน์ หากกลัวแล้วพยายามป้องกันหรือเตรียมวิธีการแก้ไข แต่ถ้ากลัวแล้วจ่อมจมอยู่ในความทุกข์ก็ไม่มีประโยชน์"

เรื่องที่สอง  "ข้อดีของเหตุการณ์ที่แย่ๆ" 
"พระไพศาล" บอกว่าเหตุการณ์แย่ๆ ทั้งหลายยังมีข้อดีอย่างน้อย 2 ประการ คือ สอนใจเรา และฝึกใจเรา สอนใจเรา ให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็นนิจ เช่น ของหายก็สอนใจเราว่าความพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราหรือเป็นของเราได้อย่างยั่งยืน
     
การถูกตำหนิก็สอนใจเราว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กันไม่มีใครที่จะได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ว่าดีแค่ไหนก็ยังถูกนินทา
           
ฝึกใจเรา เช่น ฝึกใจให้ไม่ประมาท ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นอีก หรือฝึกใจ
 
ให้ปล่อยวางเพื่อรับมือกับเหตุร้ายที่แรงกว่าในอนาคต
    
พระไพศาล ยกตัวอย่างว่าหากใครทำโทรศัพท์หายยังปล่อยวางไม่ได้ ก็น่าตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเรื่องแค่นี้ยังปล่อยวางไม่ได้  แล้วจะทำใจได้อย่างไรเมื่อต้องสูญเสียคนรัก เช่น พ่อแม่ลูกเมีย ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่
   
เหตุการณ์แย่ๆ นั้นจะช่วยฝึกใจเราให้มั่นคงเข้มแข็ง เพราะต้องเจออะไรต่ออะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกให้เราฉลาดและมีประสบการณ์มากขึ้น
          
"อย่าลืมว่าคนเราเรียนรู้จากความล้มเหลวได้มากกว่าความสำเร็จ" คือ บทสรุปของ "พระไพศาล"
   
และเรื่องที่สาม  "ปัญหาอยู่ที่ผู้มอง" 
"พระไพศาล" เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าในหนังสือ "จะเล่าให้คุณฟัง" ของ "ฆอร์เฆ่ บูกาย"
 
เป็นเรื่องของชายผู้หนึ่งโทรศัพท์ถึงหมอประจำครอบครัว
      
"ที่ผมโทรมาหาหมอเพราะผมเป็นห่วงภรรยา"
    
เมื่อหมอถามว่าเธอเป็นอะไร ก็ได้คำตอบว่า "เธอกำลังจะหูหนวก อยากให้หมอมาดูอาการเธอหน่อย"
     
หมอไม่สะดวกไป จึงนัดให้เขาพาเธอมาหาวันจันทร์ แต่เขาอยากให้หมอรีบมาทันที หมอจึงทำการวินิจฉัยทางโทรศัพท์
     
"คุณรู้ได้อย่างไรว่า เธอไม่ได้ยิน"
     
"ก็...เวลาผมเรียกเธอ เธอไม่ยอมตอบนี่"
    
หมออยากรู้ว่าเธอหูหนวกแค่ไหน จึงแนะให้เขาเรียกเธอจากจุดที่กำลังโทรศัพท์ ตอนนั้นเขาอยู่ห้องนอน ส่วนเธออยู่ห้องครัว
    
เขาตะโกนเรียกชื่อเธอ "มาเรียยยยยย......เธอไม่ได้ยินผมเลย หมอ"
    
หมอแนะให้เขาเดินไปที่ประตูห้องนอน แล้วตะโกนเรียกเธอจากทางเดิน
   
"มาเรียยยยยยย.....เธอไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย หมอ"
   
หมอแนะให้เขาเดินไปหาเธอแล้วตะโกนเรียกเธอไปด้วย จะได้รู้ว่าเธอได้ยินเสียงเขาเมื่ออยู่ใกล้แค่ไหน
    
"มาเรียยย.....มาเรียยยย......มาเรียยยยย ทำอย่างไรเธอก็ไม่ได้ยิน" แล้วเขาก็พูดต่อว่า ตอนนี้เขาอยู่ตรงประตูครัว เห็นเธอหันหลังให้เขา กำลังล้างจาน แต่ไม่ได้ยินเสียงเขาสักนิด
   
หมอแนะให้เขาเดินเข้าไปใกล้อีกนิด แล้วเรียกชื่อเธอด้วย
   
เขาเดินเข้าไปในครัว แตะไหล่เธอ และตะโกนที่หูของเธอว่า "มาเรียยยยยยย...."
   
คราวนี้ภรรยาหันขวับมาด้วยความฉุนเฉียวแล้วพูดว่า
   
"คุณต้องการอะไรกันแน่ฮึ ต้องการอะไร ต้องการอะไร ต้องการอะไรรรรรรร.....คุณตะโกนเรียกฉันเป็นสิบครั้งแล้ว ฉันก็ตอบคุณไปทุกครั้งว่า ′ว่าอย่างไรคะ′ คุณนับวันจะหูตึงขึ้นเรื่อย ทำไมไม่ไปหาหมอสักที"  
คำตอบของภรรยา  ชัดเจนว่าใครกันแน่ที่หูตึงและควรไปพบหมอ
 
"พระไพศาล" สรุปว่านิทานเรื่องนี้เตือนใจได้ดีว่า ก่อนที่จะสรุปว่าคนอื่นมีปัญหา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเอง
  
เพราะบ่อยครั้งเราเองต่างหากที่มีปัญหา หาใช่คนอื่นไม่   
คนที่ชอบตัดพ้อว่า ทำไมเพื่อนไม่เข้าใจเราเลย ควรกลับมาถามตัวเองบ้างว่า แล้วเราล่ะ เข้าใจเพื่อนบ้างหรือเปล่า บางทีอาจจะพบว่า เป็นเพราะเราเอาแต่ใจตัวหรือชอบเรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่นต่างหาก
 
พอเพื่อนไม่ยอมทำตามความต้องการของเรา ก็เลยตีขลุมว่าเขาไม่เข้าใจเรา
   
"พระไพศาล" ตบท้ายว่า "คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นว่าไม่มีน้ำใจนั้น มักจะมองไม่เห็นตนเองว่าที่แท้ตนเองนั่นแหละเห็นแก่ตัว" 
บางที "ธรรมะ" จากพระไพศาล ทั้ง 3 เรื่องอาจทำให้เรามองปัญหาน้ำท่วมอย่างเข้าใจมากขึ้น
 
เข้าใจปัญหา
 
และเข้าใจตัวเรา 
นอกจากนั้นก่อนจะวิจารณ์คนอื่นอย่างรุนแรง 

ก็ให้นึกถึงเรื่อง "คนหูหนวก" ก่อนเปิดวาจา

ไม่มีความคิดเห็น: